นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงจากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำ โดยกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างของราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท ว่า
ทางกทม.ยินดีให้การสนับสนุนยางพารา เพื่อรับนโยบายรัฐบาล โดยเบื้องต้นให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)ไปศึกษาและสำรวจเส้นทางจักรยานและถนนที่ชำรุด เพื่อก่อสร้างและทำการปรับปรุง เนื่องจากยางพารามีความยืดหยุ่น
ด้านนายสุธน อาณากุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวว่า ปัจจุบันกทม.มีเส้นทางจักรยานที่ดำเนินการแล้ว 31 เส้นทาง รวมระยะทาง 132 กิโลเมตร โดยในปี 2558 ได้ปรับปรุงเส้นทางจักรยานไปแล้ว 5 เส้นทาง ได้แก่
1.ถนนรอบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
2.ถนนรอบเกาะรัตนโกสินทร์
3.ถนนบางขุนเทียนชายทะเล
4.ถนนสาทร
5.ถนนลาดหญ้า
โดยในปี 2559 กทม.เตรียมปรับปรุงเส้นทางจักรยานอาทิ ขีดสีตีเส้น ติดหมุดลูกแก้วไฟกะพริบสะท้อนแสง ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์จราจร และปรับพื้นผิว ในถนนลาดพร้าวโดยใช้งบประมาณ 24 ล้านบาท อย่างไรก็ตามได้ขอจัดสรรงบประมาณปีอ2560 เพื่อปรับปรุงเส้นทางจักรยาน อีก 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.ถนนอังรีดูนังต่อเนื่องถนนราชดำริ 2.ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 3.ถนนประชาธิปก และ 4.จุดตัดถนนพระราม9-ประดิษฐมนูธรรม
“รูปแบบการใช้งานมี 3 รูปแบบ 1.เพื่อการเดินทาง ซึ่งเป็นผู้ใช้จริงในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ใช้ในชุมชน หมู่บ้าน และมีบางส่วนปั่นมาทำงาน 2.เพื่อการออกกำลังกาย ซึ่งแนะนำให้ปั่นในสวนสาธารณะ และ3.เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะเดินทางเป็นกลุ่ม ไปสถานที่ที่ยังไม่เคยไป ถือเป็นกลุ่มที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มักเดินทางไปย่านฝั่งธนบุรี เพราะมีพื้นที่ท่องเที่ยวย่านวัฒนธรรมหลายแห่งและประชาชนในพื้นที่จะคุ้นชินกับนักปั่นจักรยาน” นายสุธน กล่าว