วันนี้เอาโครงการดีดี เพื่อชาวจักรยานมาฝากชาวthaibike.org กับโครงการที่กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้น ชื่อว่า ‘เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี’ เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของประชาชน อีกทั้งยังมุ่งเน้นให้เกิดเป็นนโยบายระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับชาติ มีการสร้างพื้นที่เพื่อจักรยาน โดยมี สวน สนาม และเส้นทางเพื่อจักรยานทุกจังหวัด
‘เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี’ เน้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โดยร่วมพัฒนากิจกรรม และดำเนินโครงการในพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ ตลอดจนการรณรงค์ การจัดกิจกรรมในวันพิเศษ และโอกาสต่างๆ
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ได้บอกเล่าถึงบทบาทการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันว่า โครงการ ‘เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี’ ได้ดำเนินการนำร่องใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงราย น่าน พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม จันทบุรี อุดรธานี อุบลราชธานี ประจบคีรีขันธ์ กระบี่ ตรัง พัทลุง และสงขลา
โดยมียุทธศาสตร์ 3 ส. คือ ‘สวน เส้นทาง สนาม’ ซึ่งได้แก่ สวนสาธารณะ เส้นทางสัญจร และสนามกีฬา
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิต เป็นการออกกำลังกาย กีฬา การท่องเที่ยวและนันทนาการ อีกทั้งทำให้เกิดพื้นที่การขับขี่จักรยานที่ตอบสนองต่อกลุ่มผู้ใช้จักรยาน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันตลอดเส้นทาง กลุ่มเพื่อการเชื่อมโยงกับระบบสัญจรอื่นๆ และกลุ่มเพื่อการออกกำลังกายและนันทนาการ
รศ.ดร.วิลาสินี อธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกจังหวัดนำร่องจะพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันตามหลัก 3 ส. นั่นคือ
‘สวนสาธารณะ’ ควรพร้อมใช้ 60% และตอบสนองต่อกลุ่มผู้ใช้จักรยานเพื่อการออกกำลังกายและนันทนาการ อีกทั้งจัดการสวนให้เอื้อต่อการใช้ อย่างเช่น ตีเส้นทางคนเดิน-วิ่ง-จักรยาน ระเบียบการใช้สวน เป็นต้น
‘เส้นทางจักรยาน’ ทุกจังหวัดมีแผนเรื่องทางจักรยาน ที่ตอบสนองต่อผู้ใช้เส้นทางทั้งไปทำงาน ไปเรียนโดยเลือก 1 เส้นทาง ที่รถยนต์วิ่งได้ช้าเป็นเส้นทางที่มีผู้คนใช้ประจำ หรือเส้นทางสัญจรเชื่อมต่อและใช้วิธีปรับแบ่งพื้นผิวจราจร พร้อมกับมีมาตรการดูแลตามกฎหมาย
‘สนามกีฬา’ ทุกจังหวัดมีสนามของหน่วยราชการ โรงเรียน บางจังหวัดมีสนามบิน ซึ่งเอื้อต่อผู้ใช้เพื่อการออกกำลังกาย หรือการฝึกใช้จักรยานของเด็ก และสามารถทำเป็นกิจการเพื่อสังคม(CSR) กับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อจัดการกิจกรรมช่วงเวลาปั่นจักรยานได้อีกด้วย
รศ.ดร.วิลาสินี เสริมว่า ส่วนกิจกรรมรณรงค์ที่ทาง สสส. และภาคีเครือข่ายจักรยานฯ ได้ขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และเกิดการใช้จักรยานขึ้นจริง โดยแบ่งเป็นด้านนโยบาย และองค์ความรู้ เพื่อทำโครงการผลักดันนโยบายด้านการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และจัดทำชุมชนจักรยาน
การปลุกกระแสการใช้จักรยาน คือ โครงการปั่นปันข้าว, โครงการ Car Free Day 2015, โครงการปั่นล้อมเมือง, โครงการปั่น 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนฯ และโครงการ A Day Bike Fest 2015
รวมถึงการกระตุ้นใช้จักรยานผ่านการท่องเที่ยว จะมีทั้งโครงการแผนที่ท่องเที่ยวและเดินทางด้วยจักรยานทั่วประเทศ (Kingdom Ride) และโครงการปั่นรักษ์โลก (Green Ride) อีกทั้งการเพิ่มพื้นที่ปั่นจักรยาน มีโครงการ 60 สวน 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ และโครงการ 1 ค่าย 1 สนาม และโครงการรางวัลเมืองจักรยาน ที่จัดทำขึ้นเพื่อวางแผนและจัดการเมือง
การส่งเสริมใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน จะสัมฤทธิ์ผลได้ไม่เพียงแต่ความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชนเท่านั้น หากแต่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมองเห็นและให้ความสำคัญอย่างจริงจัง การสร้างเสริมสุขภาพทางกายก็เป็นไปได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.thaihealth.or.th