fbpx
วันเสาร์, มีนาคม 23, 2024

สำคัญมาก ข้อควรระวัง เรื่องของจักรยานกับเด็ก

12122424_894484980620456_3944693722299136242_n

เรื่องที่น่าให้ความสำคัญเป้นอันดับต้น ของชาว thaibike.org ที่จะเริ่มหัดจักรยานให้เจ้าตัวน้อย เรามีบทความดีดี มาฝากกัน จาก รองศาสตราจารย์ นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ มีข้อมูลว่า

มีสถิติที่น่าตกใจมากๆ นั่นคือ… มี เด็กไทย 1 ใน 15 คน ที่ได้รับบาดเจ็บจากการที่ขาสอดเข้าไปในซี่ล้อรถจักรยาน ซึ่งมีสูงถึงปีละหลายพันคน!! การบาดเจ็บที่เด็กๆ ได้รับนั้น มีตั้งแต่ …ถลอกปอกเปิก กล้ามเนื้อและเอ็นร้อยหวายช้ำ หรือฉีกขาด กระทั่งกระดูกนิ้ว กระดูกฝ่าเท้าหัก และยังมีบางรายที่โชคร้ายกระดูก และเส้นเอ็นได้รับการกระทบกระเทือน จนต้องได้รับการผ่าตัดหรือเข้าเฝือก 

สำหรับผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรร “จักรยาน” นับเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เรือน ยิ่งหมู่บ้านยุคนี้ นอกจากจะร่มรื่นย์น่าอยู่แล้ว ยังมีแหล่งการค้าพร้อมสรรพไม่ว่าจะเป็น มินิมาร์ท ร้านเช่าวีซีดี ร้านอาหาร โรงเรียนอนุบาล เนิสร์เซอรี่ โรงเรียนกวดวิชา ศูนย์กีฬา สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สปา นวดฝ่าเท้า ฯลฯ …“จักรยาน” จึงให้ทั้งความสะดวกสบาย ประหยัด แถมการขี่จักรยานยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีเยี่ยม แต่ข้อสำคัญที่ห้ามหลงลืมก็คือ…ความปลอดภัย

ควรมีแผ่นกันเท้าขัดซี่ล้อทั้งด้านหน้า
บ้านใดมีเด็กเล็กก็มักจะให้นั่งเบาะหน้า ซึ่งสั่งทำเป็นพิเศษเพื่อเจ้าตัวเล็ก ส่วนเด็กโตก็ให้นั่งซ้อนท้ายที่เบาะหลัง เมื่อจักรยานเริ่มเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ผู้ใหญ่คนถีบก็มักจะบอกเด็กว่า “กางขาไว้ลูก…กางขาไว้” เพราะกลัวว่าลูกจะเผลอจนเอาขาไปสอดเข้าไปในซี่ล้อจักรยาน

แม้ว่าลูกจะทำตาม แต่ลองคิดดูว่าเด็กๆจะทนเมื่อยจากการกางขาตลอดเวลาได้อย่างไร? 
ดังนั้น…นอกจากจะมีเบาะหน้าและเบาะหลังแล้ว จะต้องมีแผ่นกันเท้าขัดซี่ล้อทั้งด้านหน้า (สำหรับผู้ติดตั้งเก้าอี้เสริมด้านหน้า) และด้านหลัง (สำหรับคนนั่งเบาะหลัง) หลายประเทศในโลกที่จัดได้ว่าพัฒนาแล้วเขามักไม่ยอมแถมมีกฏหมายบังคับปลอดภัยหรอกครับ

ผู้ใหญ่สามารถนำทารกตั้งแต่อายุหนึ่งปีขึ้นไปขึ้นจักรยานได้ครับ แต่ต้องใช้ที่นั่งเสริมดังกล่าวให้เหมาะสมถูกวิธีครับ แม้แต่การเอาเด็กเล็กใส่ในเป้อุ้มเด็ก (ที่เรียกว่าถุงจิงโจ้) ก็จัดได้ว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะนั่นเป็นวิธีการพาเด็กไปด้วย แต่มิได้เป็นสิ่งปกป้องเด็กแม้แต่น้อย หากมีการหล่นล้มกระแทกพื้นถนน เพราะทารกและเด็กเล็กนั้น ร่างกายยังเปราะบาง เช่น มีกระดูกซี่โครงที่ไม่แข็งพอที่จะปกป้องปอดได้

หากล้มกระแทกมันเสี่ยงมากที่ปอดจะชอกช้ำเสียหาย การมีช่องทรวงอกที่ยังเล็ก บรรดาอวัยวะที่อยู่นอกซีโครงก็บอบช้ำเสียหายได้มาก ไม่ว่าจะเป็น ตับ,ม้าม หรือแม้แต่ลำไส้ก็แตกได้ง่าย สมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ระบุให้มีการกำหนดอายุเด็กที่ไม่ให้นั่งจักรยานว่า ต้องเกิน 1 ขวบขึ้นไปจึงนั่งได้ ส่วนคณะกรรมการคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคก็ได้กำหนดมาตรการควบคุม
ผู้โดยสารรถจักรยานไว้ที่อายุไม่ต่ำกว่า 1 ขวบเช่นกัน

ควรมีหมวกกันน็อค…
จริงๆ แล้วไม่ใช่เด็กหัดขี่ แต่ตั้งแต่เด็กอายุมากกว่าหนึ่งขวบที่พ่อแม่ เริ่มนำขึ้นโดยสารจักยานเขาก็ ใส่หมวกกันน็อคกันแล้ว
หมวกกันน็อค เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ป้องกันนักปั่นทั้งหลาย ไม่ให้ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนจนสมองช้ำ สมองบวม หรือเลือดตกในสมอง

แต่เหตุใด??? เด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่ในเมืองไทย จึงไม่มีใครยินดีใส่หมวกกันน็อค??? จะเป็นเพราะความไม่เคยชิน รำคาญ เกะกะ หรือรู้สึกอับอาย เพราะเกรงคนอื่นจะหาว่า “กลัวตาย” …ฯลฯ…

การเลือกหมวกกันน็อคจักรยาน ควรเลือกให้เหมาะพอดี กับขนาดศีรษะของเด็ก ไม่ต้องเลือกแบบ “เผื่อโต” เพราะหมวกที่หลวมจะกลายเป็นส่วนเกินที่น่ารำคาญ สำหรับเด็กและไม่มีประโยชน์ ในการป้องกันอุบัติภัย ควรเลือกชนิดที่มีช่องระบายอากาศ จะได้ไม่ร้อนและอับ ส่วนสีก็ควรเลือกสีแปร๊ดๆสดๆ (ที่เขาเรียกว่าสีเรืองแสง) เพราะนอกจากสวยเด่นแล้ว ยังช่วยคนขับรถอื่นๆได้เห็นผู้ขี่จักรยานได้ชัดในยามค่ำคืน)

สอนให้เด็กรู้ว่าหมวกกันน็อคมีความสำคัญมาก สามารถป้องกันการกระแทกของศีรษะขณะเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ต้องสวมหมวกกันน็อคให้ถูกวิธีด้วยการเลือกขนาดให้พอดีกับศีรษะ และรัดสายรัดคางให้แน่น หมวกกันน็อคที่ดีต้องใส่พอดีศีรษะ มีสายรัดที่ดีไม่หลุดง่าย เนื้อในสามารถดูดซับพลังงาน ป้องกันแรงจากการกระแทกได้ น้ำหนักหมวกมีความสำคัญต่อเด็กมาก เนื่องจากกล้ามเนื้อต้นคอเด็กยังไม่แข็งแรงและศีรษะเด็กมีสัดส่วนที่ใหญ่ ดังนั้นหมวกที่หนักจะทำให้เกิดการหักของกระดูกต้นคอเมื่อเกิดการชนกระแทกได้

ใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยแบบจัดเต็ม
เริ่มหัดขี่เมื่อไรดี เด็กสองขวบเริ่มให้นั่งรถเด็กเล่น รถม้าที่มีลูกล้อแต่ใช้ขาไถได้ แต่หากต้องปั่นก็อายุสามขวบครับ จะปั่นได้แล้วไม่ว่าสองล้อที่มีล้อทรงตัวเสริม หรือจักรยานสามล้อก็ตามแต่ แต่ถ้าจะเอาล้อทรงตัวออกก็ต้องเป็นเด็ก ที่มีความสามารถของสมองในด้านการ ประสานงานกล้ามเนื้อและการทรงตัวได้ดี ซึ่งต้องประมาณห้าขวบครับ เริ่มหัดเร็วกว่านั้นก็อาจล้มง่าย

อย่างไรก็ตามอย่าให้ฝึกหัดเอง หรือหัดกับเพื่อนๆ เด็กโตนะครับ ควรหัดโดยผู้ใหญ่ บนพื้นที่ที่ปลอดจากการจราจร ใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยแบบจัดเต็มครับ ไม่ว่าจะเป็นหมวกนิรภัย สนับเข่า สนับศอก วางคนคอยป้องกันการล้มตามทางสั้นๆ สิบเมตร ยี่สิบเมตรแรกไว้ เพราะผู้ช่วยพยุงรถด้านหลังอาจวิ่งตามไม่ทัน หากเด็กสามารถขี่ทรงตัวผ่านระยะนี้ได้แล้วมักผ่านไปได้ด้วยดีครับ
ฝึกขี่จักรยานไม่จำเป็นต้องเจ็บ ไม่จำเป็นต้องได้แผลครับ
,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,
ที่มาจากคอลัมน์ : Kid Safety ฉบับเดือนเมษายน 2554
เรื่องโดย : รองศาสตราจารย์ นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ภาพ : shutterstock

FOLLOW US

12,496แฟนคลับชอบ

เรื่องน่าสนใจอื่นๆ